Last updated: 14 ธ.ค. 2561 | 2074 จำนวนผู้เข้าชม |
ผู้ประกอบการธุรกิจหลายคนที่มีความฝันอยากจะพัฒนาธุรกิจของตนไปสู่รูปแบบของแฟรนไชส์ ด้วยเสียงเรียกร้องจากผู้ที่สนใจลงทุนธุรกิจ การพัฒนาไปสู่ระบบแฟรนไชส์ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ผู้ประกอบการเองควรมีความพร้อม ซึ่งจะประกอบไปด้วยหลายองค์ประกอบ ควรที่จะศึกษาและเข้าใจในทุกรายละเอียด พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับแบรนด์ จนเป็นที่ยอมแก่ผู้ที่สนใจอยากลงทุนด้วย 8 วิธีพัฒนาธุรกิจสู่ระบบแฟรนไชส์ ดังต่อไปนี้
1) เข้าใจภาพรวมของ ระบบแฟรนไชส์ อย่างแท้จริง
ผู้ประกอบการควรศึกษาหาความรู้ของแฟรนไชส์ให้เข้าใจอย่างแท้จริงเสียก่อน ว่ามีระบบระเบียบบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งปัจจุบันการศึกษาหาข้อมูลการทำธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถปรึกษากับหน่วยงานภาครัฐ หรือเอกชน ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
พร้อมที่จะให้องค์ความรู้ในการสร้างระบบแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐาน เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะมีการจัดอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์ ทั้ง แผนกลยุทธ์ การบริหารจัดการร้านต้นแบบ คู่มือปฏิบัติงานในระบบแฟรนไชส์ (Operation Manual) สัญญาแฟรนไชส์ และกลยุทธ์การพัฒนา Franchisee ให้ประสบความสำเร็จ เป็นต้น รายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.dbd.go.th
2) สร้างแบรนด์ วางระบบการจัดการให้มีมาตรฐาน
แน่นอนว่าก่อนจะเริ่มเข้าสู่ระบบแฟรนไชส์ ธูรกิจต้องได้รับความนิยมมาในระดับหนึ่งแล้ว ฉะนั้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ วางแผนเตรียมความพร้อมในระบบการจัดการให้เป็นรูปแบบที่ชัดเจน ซึ่งสามารถทำได้โดยการขยายสาขาขึ้นเองทำร้านต้นแบบให้เป็นมาตรฐาน เพื่อศึกษารายละเอียดและผลตอบรับในทุกแง่มุม หรือร้านต้นแบบนั้นอาจบริหารจัดการโดยผู้อื่น ที่ไม่ใช่เจ้าของแฟรนไชส์เอง
เพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าถ้ามีการขายแฟรนไชส์ และดำเนินกิจการตามรูปแบบที่วางไว้ จะมีโอกาสสร้างกำไรให้กับกิจการได้อย่างต่อเนื่องในร้านต่อๆไป แล้วทำการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความพร้อมในระบบ ให้ผู้ที่สนใจอยากลงทุนมีความเชื่อมันและตัดสินใจที่อยากจะลงทุนได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้นการขยายสาขาแฟรนไชส์จากผู้ที่สนใจอยากจะมาลงทุนก็ไม่ใช่เรื่องยาก นอกจากนนี้การจดทะเบียนต่างๆ ตราสินค้า ลิขสิทธิ์ ถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อยืนยันตัวต้นของธุรกิจนั้นๆ
3) ประมาณการโครงสร้างทางการเงิน
เมื่อมีร้านต้นแบบแล้วสิ่งต่อมา คือ การประเมินการโครงสร้างทางการเงินเช่น ถ้าการเปิดแฟรนไชส์ 1 แห่ง จะมีรายละเอียดในการลงทุนอย่างไร มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จุดคุ้มทุนจะอยู่ลูกค้ากี่คน ยอดขายที่จะคุ้มค่าใช้จ่ายต่อเดือนอยู่ที่ตัวเลขประมาณเท่าไหร่ และเป้าหมายควรมีลูกค้าขั้นต่ำเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้เงินลงทุนคืนประมาณกี่ปี และคุ้มหรือไม่ ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะมาลงทุนทำธุรกิจนี้
ร้านต้นแบบจะทำให้เจ้าของแฟรนไชส์เห็นภาพที่ชัดขึ้น และมีตัวเลขที่เข้าใกล้ความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนนี้ จะมีความสำคัญต่อการกำหนดราคา การทำสัญญา การเก็บค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) และ ค่าธรรมเนียมรายเดือน (Royalty Fee) เป็นต้น
4) สร้างระบบบริหารจัดการธุรกิจ
เมื่อทราบถึงมูลค่าและต้นทุนแล้ว สิ่งต่อไป คือ การบริหารจัดการระบบทั้งในเรื่องของ การอบรม การจัดหาวัตถุดิบ แนวทางการจัดส่ง การควบคุมคุณภาพ ทั้งหมดนี้จะเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของแฟรนไชส์นั้นๆได้เป็นอย่างดี การควบคุมวัตถุดิบให้เป็นำไปตามที่กำหนด สินค้า หรือ ผลิตภัณฑ์ก็จะเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน
นอกจากนี้ควรกำหนดราคาจำหน่ายวัตถุดิบให้กับ Franchisee ไว้อย่างชัดเจน หรือ หาก Franchisee เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบเองควรวางมาตรฐานให้ได้ตามที่กำหนดไว้ และมีการตรวจเช็คคุณภาพอยู่เสมอ
5) สร้างมาตรฐาน ทำคู่มือ อบรม ตรวจสอบ
ควรทำคู่มือการดำเนินธุรกิจให้กับผู้ที่มาลงทุน เพราะการถ่ายทอดธุรกิจทั้งระบบในระยะเวลาเพียงไม่กี่วันคงเป็นไปได้ยาก ฉะนั้นการมีคู่มือแนะนำ วิธีการแก้ปัญหา หรือการจัดอบรมก่อนเริ่มต้นธุรกิจ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมและลดความเสียงให้เจ้าของแฟรนไชส์ และผู้ที่มาลงทุนเช่นกัน หลังจากเริ่มต้นธุรกิจแล้ว ควรมีการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานที่วางไว้ พร้อมเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาแนะนำอยู่เสมอ
6) คัดเลือกผู้ลงทุนหรือ Franchisee
การทำธุรกิจแฟรนไชส์ไม่เหมือนกับการลงทุนในหุ้นทั่วๆ ไปที่เอาเงินมาซื้อก็จบกันไป Franchisee นอกจากจะลงทุนด้วยเงินแล้ว ยังต้องลงทุนด้วยแรงกาย แรงใจ และความทุ่มเทในการบริหารจัดการร้านให้ประสบความสำเร็จ มีความรู้ความเข้าใจระบบแฟรนไชส์เป็นอย่างดี อีกทั้งยังต้องไว้วางใจ Franchisor ด้วย ดังนั้น Franchisee ที่เลือกเข้ามาต้องมีมาตรฐานด้วย อย่าเลือกเอาคนที่มีเงินลงทุนอย่างเดียว แต่ไม่มีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์ดีพอ
7) การตลาด และการโฆษณาประชาสัมพันธ์
อย่าลืมว่าปัจจุบันการตลาดมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจไปถึงเป้าหมายมากขึ้น นอกจากการทำการตลาดให้กับแฟรนไชส์ Franchisor แล้ว ควรมีแผนการตลาดส่งเสริม Franchisee ด้วยเช่นกัน เป็นการส่งเสริมธุรกิจไปในตัว
8) รักษาสิทธิ์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้า เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ควบคู่ไปกับการให้สิทธิ์ ดังนั้น เมื่อธุรกิจของแฟรนไชส์ได้ผ่านการดำเนินการมา ระยะเวลาหนึ่ง ตราสินค้าหรือเครื่องหมายทางการค้าของแฟรนไชส์ ย่อมเป็นที่คุ้นเคยและได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งจากผู้บริโภค ซึ่งผู้ซื้อแฟรนไชส์หรือ Franchisee ก็ย่อมได้รับประโยชน์จากเครื่องหมายการค้า ที่ได้รับการยอมรับในตลาดไปด้วย
ทำให้ธุรกิจของ Franchisee เริ่มต้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะไม่ต้องสร้างเครื่องหมายการค้าใหม่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ทั้งนี้ แม้ว่าเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ จะให้สิทธิ์ Franchisee ใช้เครื่องหมายการค้าได้ แต่ก็สามาระเรียกคืนเครื่องหมายการค้านั้นๆ กลับคืนจาก Franchisee ได้ หากกรณี Franchisee ไม่ทำตามกฎระเบียบ ไม่ทำตามข้อปฏิบัติในสัญญาแฟรนไชส์
ข้อมูลจาก : cheechongruay.smartsme.co.th
21 ธ.ค. 2561
21 ธ.ค. 2561
27 ธ.ค. 2561
27 ธ.ค. 2561